วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

นิทานอีสปกับการสร้างกระบวนการคิดแก่เด็ก

วัฒนธรรมการสอนของไทยเรา เดิมมักจะเน้นที่การพูดและฟัง เราจึงชอบดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ มากกว่าอ่านหนังสือ

ปัจจุบัน เราให้ความสำคัญกับการอ่านและเขียนมากขึ้น เพราะช่วยในการสร้างกระบวนการคิด อันเป็นอีกปัจจัย ที่ช่วยในการพัฒนาประเทศ

นิทาน สามารถนำมาเป็นสื่อในการสร้างสรรค์การคิดแก่เด็กได้เป็นอย่างดีค่ะ ตัวอย่างเช่น นิทานอีสป
นิทานเรื่องนี้ ลูกสาวคนโตวาดไว้ตั้งแต่ยังเขียนหนังสือไม่ได้ เก่าเก็บหลายปีแล้วค่ะ


นิทานเรื่อง เต่าอยากบิน เต่ากับนกเป็นเพื่อนกัน เต่าเฝ้ามองนกบินไปมาได้ไกลๆก็เกิดอยากบินได้เหมือนนกบ้าง จึงไปขอให้นกสอนบินให้


นกบอกว่าทำไม่ได้ เพราะเต่าไม่มีปีก เต่าเสียใจ จึงเดินคอตกกลับไป





































แต่เพราะยังอยากบินอยู่ จึงไปหานกอีก และขอร้องนกถ้านกจะไปไหน ก็ขอให้พาตนบินไปด้วย

นกสงสาร จึงคิดหาทางที่จะช่วยเต่า ในที่สุด จึงใช้กรงเล็บจับตัวเต่าไว้ แล้วพาบินไปด้วยกัน แต่เกิดอุบัติเหตุ เต่าหลุดจากกรงเล็บนก



ตกลงสู่พื้นฟาดกับก้อนหินเกิดเสียงดังจนกวางสองตัวแม่ลูกที่นอนหลับอยู่ตกใจตื่น (กวางสองตัวนี้คงยืมมาจากการ์ตูนของ วอลส์ ดิสนีย์ เรื่องแบมบิ)


เต่า เจ็บตัว จึงไม่คิดจะทำอะไรที่เกินความสามารถตนอีก

นิทานเด็กจบแล้ว ค่ะ แต่อยากต่อเรื่องของผู้ใหญ่

นิทานอีสป มองว่าเป็นนิทานที่ควรนำมาอ่านให้เด็กฟังเพราะช่วยให้เด็กเกิดจินตนาการไปได้ไกล เนื่องจากแนวของนิทานคือการเล่าเรื่องราวของมนุษย์ในแง่มุมต่างๆทั้งด้านดี และร้าย การใช้ชีวิตในสังคม การปกครอง การเมือง

แต่เนื่องจากเนื้อเรื่องสั้น และทิ้งท้ายให้คิดเอง ผู้เล่าอาจต้องกระตุ้นให้เด็กคิดตาม

ไม่อยากให้จบการเล่านิทานด้วยประโยคที่ว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า......” อย่างที่คนวัยขนาดดิฉันมักได้ยินตอนเด็กๆเลยค่ะ

เราอาจฝึกให้เด็กคิดจากนิทานที่เล่าได้หลายแบบค่ะ เช่น

อาจถามเด็กว่า เต่าเจ็บตัว เป็นทุกข์ ลูกคิดว่าอะไรทำให้เต่าทุกข์

หากคิดในแนวสืบสวนต้นเค้า จะเกิดการไล่ย้อน หาความสัมพันธ์ของแต่ละเหตุการณ์ไปถึงต้นเหตุ จะได้ว่า เต่าทุกข์ในตอนจบ เพราะเจ็บตัว เต่าเจ็บตัว เพราะตกสู่พื้น เต่าตกสู่พื้น เพราะนกที่บินไปใช้กรงเล็บจับเต่าพาบินด้วยไป อาจเมื่อยจนทนจับเต่าไว้ไม่ไหว นกพาเต่าบินไป เพราะเต่าร้องขอ เต่าขอร้องเพราะคิดว่านกจะช่วยแก้ไขความทุกข์ให้ได้



เต่าทุกข์เพราะอยากบินได้อย่างนก แต่เพราะไม่มีปีกจึงบินไม่ได้ เมื่อบินไม่ได้ก็เกิดความทุกข์

ต้นเหตุของเรื่องจึงเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความอยากมีในสิ่งที่ไม่มี (ภวตัณหา) ของเต่านั่นเอง เพราะทุกข์จากความอยากในตอนต้น จึงต้องทุกข์เพราะอาการเจ็บปวดในตอนจบ

หรือจะลองคิดในแนวแยกองค์ประกอบดูก็ได้ค่ะ เช่น ทำไมเต่าจึงตกลงสู่พื้น อาจได้ว่า เต่าน้ำหนักตัวมากเป็นองค์ประกอบหนึ่ง นกอาจเมื่อย เป็นองค์ประกอบสอง ลมอาจแรง เป็นองค์ประกอบสาม หรือ....อื่นๆ.... แล้วแต่จะสรรคิด

การคิดแบบสืบสวนต้นเค้า ก็คือวิธีการหนึ่งของการคิดแบบโยนิโสมนสิการในพุทะศาสนา ส่วนการแยกองค์ประกอบนั้น นอกจากจะเป็นวิธีหนึ่งของการคิดแบบโยนิโสมนสิการแล้ว ยังเป็นการคิดเชิงวิเคราะห์อีกด้วย

สร้างกระบวนการคิดของเด็กด้วยนิทานกันนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น: